Perspectives

คริปโทเคอร์เรนซี: ควบคุมได้หรือไม่

พัชรพร ภู่ทรานนท์
พาร์ทเนอร์ I ที่ปรึกษาด้านภาษีและกฎหมาย
ดีลอยท์ ประเทศไทย

บททดสอบสำคัญของการใช้คริปโทเคอร์เรนซี (คริปโทฯ) ได้เกิดขึ้นในช่วงสงครามยูเครน เพราะกล่าวกันว่าช่วงเวลาเช่นนี้คือข้อได้เปรียบของคริปโทฯ ที่เหนือกว่าการใช้สกุลเงินแบบดั้งเดิม เนื่องจากอยู่นอกเหนือการควบคุมจากรัฐ และอาจเป็นวิธีการชำระเงินวิธีเดียวที่เหลืออยู่ในช่วงสงคราม ด้วยเหตุการณ์แวดล้อมในปัจจุบัน จึงเห็นได้ว่า คริปโทฯ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางข้อขัดแย้งรอบตัว สำหรับประเทศไทยแล้ว จัดเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ครอบครองคริปโทฯ มากที่สุดในโลกในหมู่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเพิ่มขึ้นจนมากกว่าสองในสิบตามรายงานของ The Digital 2022 Global Review ซึ่งแน่นอนว่าหน่วยงานกำกับในไทยย่อมตระหนักถึงทิศทางนี้ และมีความพยายามกำหนดมาตรการกำกับดูแลการใช้งานคริปโทฯ โดยพิจารณาพัฒนาการทางกฎหมายที่สำคัญ ๆ ในไทยได้ดังนี้

เหตุการณ์เริ่มต้นของการกำกับดูแลในประเทศไทยมาจากการระดมทุนเหรียญ J-Fin ในปี 2561 ที่ขายหมดภายในเวลาไม่กี่วัน ส่งผลให้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โดยหลักคือกำกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งรวมถึงศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ)

หน่วยงานกำกับของไทยได้สอดส่องอุตสาหกรรมนี้ และออกมาตรการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตลอดมา เช่น ในปี 2564 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดห้ามไม่ให้โทเคนบางตัวซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ได้แก่ memes token, fan tokens, NFTs, และโทเคนที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายฯ นั้นเอง ซึ่งข้อห้ามนี้มีความไม่ชัดเจน และจำกัดการเติบโตของผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ความไม่ชัดเจนว่าอะไรคือ ‘meme token’ เนื่องจากบางโทเคนอาจยังอยู่ในช่วงพัฒนา และมิได้แปลว่าโทเคนนั้นไม่มีสาระ หรือกรณีโทเคนที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายฯ ที่มีการออกและเสนอขายไปแล้ว ข้อห้ามนี้จึงสร้างความไม่เท่าเทียมต่อผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงความไม่เข้าใจในเหตุผลของการห้าม NFTs ด้วย ข้อห้ามเหล่านี้ยังอาจส่งผลให้ศูนย์ซื้อขายฯ ในไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ยาก โดยเฉพาะในแง่ผลิตภัณฑ์ที่เสนอขาย และปลายปี 2564 นั้นกรมสรรพากรก็ได้เตือนให้รายงาน และชำระภาษีเงินได้จากคริปโทฯ ตามพระราชกำหนดที่ออกเมื่อปี 2561 แต่เกณฑ์ดังกล่าวยังต้องการความชัดเจนอีกมาก เช่น วิธีการคำนวณหากำไรจากการซื้อขาย หรือจุดกำเนิดรายได้จากการ farming หรือการขุด โดยหลังจากได้ฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว กรมสรรพากรจึงได้ออกคำแนะนำการเสียภาษีในเดือนมกราคม 2565 และไม่นานมานี้ได้มีกฎกระทรวงอนุญาตให้บุคคลธรรมดาหักผลขาดทุนจากการโอน

คริปโทฯ ในศูนย์ซื้อขายฯ ที่ได้รับอนุญาตได้ และกำลังจะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ซื้อขายฯ ที่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มตกลงที่จะนำคริปโทฯ มาใช้ในการชำระเงินมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเงิน เพราะอาจทำให้มีหน่วยวัดมูลค่าอื่นนอกเหนือจากสกุลเงินบาท จึงได้มีแนวทางที่จะออกข้อห้ามผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ให้สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการห้ามให้บริการที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว โดยจะให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

จะเห็นได้ว่ากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคริปโทฯ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีทั้งความต้องการลงทุน และความพร้อมของผู้ที่เกี่ยวข้อง หากต้องการที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้นั้น หน่วยงานกำกับดูแลอาจพิจารณามาตรการส่งเสริม หรือลดข้อจำกัดลง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจนี้ได้ โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ และการควบคุมของรัฐบาลหรือความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งสิ่งนี้ย่อมตกอยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่จะช่วยกำหนดทิศทางและความเคลื่อนไหวต่อไป

Did you find this useful?