Article

อนาคตยานยนต์ไทย

มกราคม 2022

ผู้เขียน: มนูญ มนูสุข: Thailand Customer Industry Leader

ผู้มีส่วนร่วม: 
ทวี ทวีแสงสกุลไทย
วิมลพร บุณยัษเฐียร
ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์
ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์

 

ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นพัฒนาการของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุครถยนต์ Hybrid ไปจนถึงรถยนต์ Plug-in Hybrids (PHEV) ซึ่งใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะได้รับการยอมรับจากตลาดในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) กลับได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างน่าประหลาดใจ มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างผู้ผลิตรถยนต์รายต่าง ๆ และ ผู้เล่นรายใหม่ ๆ จากประเทศจีนที่บุกตลาดอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่เร่งเร้าให้ตลาดรถไฟฟ้าได้รับการยอมรับส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาด้านราคาน้ำมันที่ผันผวนและความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำหลายราย เช่น Daimler  Audi  และ Hyundai  ก็ได้ประกาศยุติการวิจัยและพัฒนาสำหรับการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปแล้ว

คำถามที่น่าสนใจก็คือ แนวโน้มนี้จะไปได้ไกลถึงไหน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแค่การเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าใช่หรือไม่ และ อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในระยะยาว?

 

สิ่งที่เราคาดหวังได้

Deloitte ได้ออกรายงานที่ชื่อว่า Deloitte's Future of Automotive Sales and Aftersales: Impact of current industry trends on OEM revenues and profits until 2035  ซึ่งได้คาดการณ์และจัดกลุ่มตามแนวโน้มหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ 4 ประการ เรียกย่อ ๆ ว่า CASA Trends ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก C - connectivity A - alternative drivetrain S - shared mobility และ A - Autonomous Driving


Connectivity (C)

ในที่นี้จะขอข้ามระบบมัลติมีเดียที่ให้ความบันเทิงที่มีอยู่ในรถยนต์ที่ทุกคนคุ้นเคยกันออกไปก่อน เพราะทุกวันนี้เราสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศให้รถเย็นลงก่อนจะขึ้นรถด้วยการแตะเพียงไม่กี่ครั้งบนสมาร์ทโฟนของเราแล้ว แต่การเชื่อมต่อที่จะพูดถึงนี้สามารถทำได้มากกว่านั้นอีก ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ 1) การเชื่อมต่อของรถยนต์ และ 2) การเชื่อมต่อของผู้โดยสาร

การเชื่อมต่อของรถยนต์: ในที่นี้จะใช้คำว่า 'V2X' หรือ 'Vehicle-to-Everything' คำนี้ครอบคลุมการเชื่อมต่อหรือถูกเชื่อมต่อระหว่างรถกับอุปกรณ์หรือระบบอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น Vehicle-to-network (V2N) คือการเชื่อมต่อรถกับรถบบเครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรถยนต์ รถบรรทุก รถประจำทาง ไฟจราจร ระบบ Vehicle-to-vehicle (V2V) ช่วยให้รถสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ ระบบ Vehicle-to-Pedestrian (V2P) ช่วยให้รถสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกับคนเดินถนน และ Vehicle-to-grid (V2G) ช่วยให้สื่อสารกับโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการชาร์จ และ ล้ำไปถึงการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบเพื่อสร้างรายได้คืนให้กับเจ้าของรถได้ด้วยแม้ว่าระบบ V2X ดังกล่าวจะทำให้ราคารถแพงขึ้น แต่ผลการสำรวจจากจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นกลับให้ผลตอบรับเชิงบวก เพราะผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับคุณสมบัติที่จะช่วยเหลือผู้ขับในระยะยาว

การเชื่อมต่อของผู้โดยสาร: การเชื่อมต่อนี้จะช่วยขยายประสบการณ์ให้กับลูกค้าทั้งการซื้อรถยนต์ผ่านระบบออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยตอบโจทย์ความต้องการของบริการอื่น ๆ เช่น การบำรุงรักษาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

Alternative Drivetrain (A)

การการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภค เพราะหมายถึงการเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพลังงานจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเดิมเป็นระบบมอเตอร์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจกลับพบความแตกต่างระหว่างภูมิภาค ยกตัวอย่าง จีนให้การตอบรับดีและเปิดกว้างสำหรับโซลูชั่นอื่น ๆ ที่มีความสร้างสรรค์ เช่น การสลับแบตเตอรี่ การชาร์จไร้สาย และ การชาร์จ One-Stop ในขณะที่กลุ่ม Euro5 ให้ความสำคัญกับมาตรฐานการปล่อยก๊าซคอร์บอนไดอ๊อกไซด์ ก็จะใช้การจูงใจทางการเงิน รวมถึงโครงการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชาร์จในที่สาธารณะ ในทางกลับกันผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงนิยมเครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่เนื่องจากภูมิประเทศทำให้มีระยะการขับที่ไกลและราคาน้ำมันก็ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับรายได้ สุดท้ายประเทศญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการพัฒนารถไฮโดรเจน (FCEV) มากกว่ารถไฟฟ้า BEV


Shared Mobility (S)

เจ้าของรถสามารถใช้รถให้คุ้มค่าจากการลงทุนได้มากขึ้นด้วยการลดระดับความเป็นเจ้าของลงบางส่วน ซึ่งคนไทยก็ยอมรับแนวคิดนี้ได้ดีทีเดียว เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเติบโตของแอพพลิเคชั่นแชร์รถอย่างต่อเนื่อง เจ้าของรถสามารถใช้รถ มอเตอร์ไซค์ รถตู้ หรือ แม้แต่รถหรู ไว้หาเงินได้ในเวลาว่างจากการทำงานประจำปัจจัยสำคัญคือการขยายตัวของเมืองที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการชำระเงินและไมโครเพย์เมนต์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเจ้าของรถและผู้บริโภคมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีมากพอที่จะยอมรับและปรับเปลี่ยนวิธีการเดินให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วมากขึ้นนอกจากนี้ การสำรวจยังเผยให้เห็นว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดระเบียบข้อบังคับสำหรับผู้ขับขี่โดยเฉพาะเช่น จีน และ Euro5 จะใช้กลไกราคาและโครงสร้างภาษีจูงใจให้เจ้าของรถยนต์นำรถมาแชร์เพื่อหาประโยชน์ในเวลาที่ตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้รถมากขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ช้ากว่า เนื่องจากราคารถยนต์ในสหรัฐฯ ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพและการเปิดรับระบบขับเคลื่อนทางเลือกต่ำ ในขณะที่ญี่ปุ่นมีระบบขนส่งมวลชนที่ยอดเยี่ยมและเชื่อถือได้มาเป็นเวลานาน จึงไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายหากผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด


การขับขี่อัตโนมัติ (A)

แนวโน้มสุดท้ายคือ Autonomous Driving ซึ่งอุตสาหกรรมเรียกกันว่า Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) ที่ระดับ 4 ที่แสดงในรูปด้านบนหรือที่รู้จักกันในชื่อ High Automation

ADAS จะมี 5 ระดับโดยเริ่มจากระดับ 1) Feet Off ซึ่งเรารู้จักกันในรูปของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่พัฒนาไปจนถึงระดับที่สามารถแปรผันความเร็วตามรถคันหน้าได้ รวมถึงระบบเบรกอัตโนมัติที่ชะลอหรือหยุดรถได้เองหากจำเป็น ระดับ 2) Hands Off ซึ่งเราจะรู้จักในรูปของระบบ Lane Keeping Assistance (LKA) รถสามารถเตือนคนขับหากมีการขับออกนอกเลน หรือแม้กระทั่งดึงพวงมาลัยกลับเมื่อรถตรวจพบทิศทางที่ผิดปกติ ระดับ 3) Eye Off เป็นระดับที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องมองไปในทิศทางที่กำลังจะไปตลอดเวลา แต่ยังต้องตัดสินใจในช่วงเวลาวิกฤติ 4) Brain Off คือระบบที่คนขับสามารถนอนหลับได้ในขณะเดินทาง ระดับนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Full Self-Driving (FSD ) สุดท้าย 5) No Driver เป็นที่รถไม่ต้องการคนขับอีกต่อไป รถสามารถเดินทางได้ตามที่หมายที่กำหนด

ปัจจุบัน ADAS เป็นเทคโนโลยีที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อถือจากผู้บริโภค อย่างไรก็ตามระบบยังต้องการ Machine Learning (ML)ที่ทรงพลังและพลังประมวลผลที่เพียงพอในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยพิจารณาจากความซับซ้อนของพื้นผิวถนน สภาพการจราจร และพฤติกรรมการใช้ถนนในภูมิภาคที่หลากหลาย


ผู้เล่นคนสำคัญ

CASA Trends ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มของผู้ผลิตรถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีผู้เล่นใหม่ ๆ ที่เข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน ยกตัวอย่างเช่นแนวโน้มด้าน Connectivity (C) ระบบ V2X ที่มีประสิทธิภาพต้องมีเทคโนโลยีมารองรับการจัดการข้อมูล เช่น บริการข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของยานพาหนะและข้อมูลของผู้ขับขี่บนท้องถนน และ ทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ สื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Alternative Drivetrain ต้องการบริการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ที่จอดรถ การชาร์จ หรือระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ (ดังที่เห็นในจีน) เพื่อชดเชยข้อจำกัดของ BEV เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเดินทางระยะทางไกล

ในการเปรียบเทียบ Shared Mobility ต้องการแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ เช่น รถยนต์ตามความต้องการและความคล่องตัวตามความต้องการ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงรถได้อย่างสะดวก ในขณะเดียวกัน เจ้าของรถไม่ต้องรู้สึกรำคาญกับประโยชน์ของรถให้คุ้มค่า

สุดท้ายนี้ Autonomous Driving ก็ต้องการ Machine Learning (ML) รวมถึง Internet of Things (IoT) ที่เชื่อถือได้ ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และไร้กังวล


ความท้าทายของประเทศไทย

รัฐบาลมีแผนที่จะจูงใจผู้ใช้ให้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าโดยจัดตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนค่า EV ใหม่สูงสุดถึง 20% และเพิ่มภาษีรถยนต์สรรพสามิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพื่อให้ช่องว่างทางภาษีต่างกันสำหรับ EV 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นไม่ง่ายเหมือนการเปลี่ยนเกียร์ การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจาก ICE เป็น BEV จะเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคหลายอย่าง เพราะไทยมีรากฐานของห่วงโซ่อุปทานที่ป้อนให้กับการผลิตรถยนต์ ICE มากอย่างยาวนาน มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากที่

จะต้องปรับปรุงและปรับทักษะและความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ ให้กับบริษัทและทักษะด้านแรงงาน ซึ่งหมายถึงการลงทุนก้อนใหญ่ที่จะต้องพิจารณา

สุดท้ายรถที่พาเรามาถึงวันนี้ อาจไม่ใช่รถที่ขับเคลื่อนเราไปสู่อนาคต ซุนวูกล่าวไว้ว่า “ชัยชนะมาจากการค้นหาโอกาสในปัญหา” แนวโน้มเหล่านี้จะเป็นเกมที่พิสูจน์วิสัยทัศน์ว่าใครจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริงในสนามการประลองใหม่ในอนาคต

Did you find this useful?