Article

เซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร

มีนาคม 2565

ผู้เขียน: ปาริชาติ จิรวัชรา
พาร์ทเนอร์ | บริการที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง
ดีลอยท์ ประเทศไทย

ผู้มีส่วนร่วม: ทัศดา แสงมานะเจริญ
ที่ปรึกษา | Clients & Industries
ดีลอยท์ ประเทศไทย

 

เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อัจฉริยะ ยานยนต์ และ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ปัญหาความล่าช้าในการผลิตจากการปิดตัวชั่วคราวของโรงงานต่าง ๆ หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าต้องรอการส่งมอบสินค้าที่ผลิตจากเซมิคอนดักเตอร์ประเภทต่าง ๆ ออกไปร่วม 5 เดือนหรืออาจจะถึง 1 ปี ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้รายรับทั่วโลกปรับตัวลดลงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีบทบาทสำคัญต่อจำนวนที่ลดลงของชิป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายบริหารของทรัมป์เริ่มควบคุมการขายเซมิคอนดักเตอร์ของ Huawei Technologies, ZTE และบริษัทจีนอื่น ๆ อย่างเข้มงวด รวมถึงยังขึ้นบัญชีดำชิปที่ผลิตโดย Semiconductor Manufacturing International Corporation ของประเทศจีน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็เริ่มสะสมชิปเพื่อสำรองสำหรับสมาร์ทโฟน 5G และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ผลก็คือบริษัทอเมริกันขาดแคลนชิปในการผลิตในที่สุด

เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนชิป ผู้ผลิตยานยนต์และผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ได้เจรจากับฝ่ายบริหารของไบเดนเพื่อส่งเสริมกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ของสหรัฐ โดย Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกก็ตอบรับกับข้อเรียกร้องนี้ โดยได้เพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายด้านทุนในปี พ.ศ. 2564 เป็น 28 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นใหม่จะต้องใช้เวลาในกระบวนการต่าง ๆ อย่างน้อย 5 ปี จึงไม่ง่ายที่จะสามารถเพิ่มจำนวนชิปได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้

สถานการณ์ข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่องทั่วโลก Deloitte ได้คาดการณ์ไว้ว่าชิปหลายประเภทจะขาดแคลนไปถึงปี พ.ศ. 2565 โดยส่วนประกอบบางอย่างอาจขาดไปจนถึงปี พ.ศ. 2566 แต่ส่วนมากจะรุนแรงน้อยกว่าในปี พ.ศ. 2564 และจะไม่ส่งผลกระทบต่อชิปทั้งหมด

สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 สู่มูลค่า 440 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2563 สวนทางกับการหดตัวของจีดีพีทั่วโลกที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งขนาดและมูลค่านี้บ่งบอกถึงบทบาทของเซมิคอนดักเตอร์ในด้านผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานทั่วโลกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและผู้นำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ

หนึ่งในวิธีการวัดความสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์ต่อเศรษฐกิจ คือ การวัดยอดขายเป็นร้อยละต่อ GDP ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ภาวะถดถอยด้วย ซึ่งวิธีการนี้แสดงให้เห็นว่ายอดขายจากชิปทั่วโลกมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับ GDP ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นั่นคือยอดขายของเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.25 เป็นมากกว่าร้อยละ 0.50 ของ GDP ทั่วโลกทั้งในปี พ.ศ. 2563 และ ที่คาดการณ์ในปี พ.ศ. 2564

แม้ว่าเซมิคอนดักเตอร์อาจเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของ GDP โลก แต่ได้ขับเคลื่อนสินค้าและกระบวนการเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกเหนือจากนี้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ยังได้รับแรงส่งจาก Digital transformation และ COVID-19 เช่น ความต้องการชิปสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ และ Data center เพิ่มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 ซึ่งโรคระบาดนี้ยังทำให้ยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลพุ่งขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบเป็นรายปีของต้นปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่ยอดขายชิปเพิ่มขึ้น 30% สำหรับ Cloud computing data centers

ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตรถยนต์ 1 คันเคยมีต้นทุนที่เป็นค่าไมโครชิปในการผลิตเฉลี่ยราว 300 ดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2553 และขยับเพิ่มมาเป็นมากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากรถยนต์เริ่มใช้ระบบที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น หรือคิดเป็นภาพรวมมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ตาม ปัญหาห่วงโซ่อุปทานของชิปในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 ได้แสดงให้เห็นว่าการขาดชิปที่สำคัญอาจส่งผลให้ยอดขายยานยนต์ทั่วโลกให้ลดลงถึง 61 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

สถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์จึงได้รับผลบวกจากอุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยผลิตขึ้นเพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของการผลิตทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับกลาง เช่น วงจรรวม เซมิคอนดักเตอร์ และ แผงวงจรพิมพ์

ข้อมูลจาก SCB EIC ได้คาดการณ์ว่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยจะโตขึ้นร้อยละ 7 เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันโดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น และ แนวโน้มการ Work from home ที่อาจเป็น New normal ต่อไป

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระยะยาวของไทยนั้น อาจมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น ยานยนต์ สุขภาพ และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อผู้ประกอบการสำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่ามกลางตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตปลายน้ำของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ คลื่นลูกใหม่ของโรคระบาดในปี พ.ศ. 2564 ได้เร่งให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้น รวมทั้งหยุดการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่สองและสาม โตโยต้าได้ยุติการผลิตในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ขณะที่ AutoAlliance ผู้ผลิตฟอร์ดและมาสด้าได้ยุติการผลิตเป็นเวลาสองสัปดาห์ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ใหม่ของไทยในปี พ.ศ. 2564 ลดลงจาก 1.6 ล้านคันเหลือ 1.55 ล้านคัน ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดโลกที่สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

เมื่อมองไปข้างหน้า สำหรับบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินงานที่ต้องพึ่งพาหรือใช้ชิปต่าง ๆ นั้น อาจต้องรวมปัญหาเรื่องชิปไว้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และพิจารณาว่าความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่มากขึ้นจะทำให้ตลาดของผลิตภัณฑ์เติบโตได้อย่างไร นอกจากนี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอาจต้องคิดใหม่เกี่ยวกับการจัดหาห่วงโซ่อุปทานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก เช่น โรคระบาด การขวางการขนส่งของ Ever Given ที่คลองสุเอซที่ผ่านมา ฯลฯ ทั้งนี้ด้วยรูปแบบการใช้จ่ายที่สูงขึ้น ชิปที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และ ตัวคูณทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น จึงยังไม่มีสัญญาณว่าแนวโน้มการขาดแคลนของชิปจะคลี่คลายได้ในเร็ว ๆ นี้

Did you find this useful?