Press releases
ดีลอยท์ เผย ตลาด IPO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2567 ยังคงซบเซา แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2568
- มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย สามารถระดมทุนรวมกันได้ประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของเงินทุนที่ระดมทุนได้ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- มาเลเซียสร้างสถิติใหม่ในปีนี้ โดยมีการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด 46 บริษัท ระดมทุนได้ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด อยู่ที่ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมดในภูมิภาคนี้ในปี
- เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่หุ้น IPO ของอินโดนีเซีย ไม่ติด 10 อันดับแรก ของหุ้น IPO ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากกิจกรรมในตลาดทุนที่ชะลอตัวลงหลังจากการเลือกตั้ง
- กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และทรัพยากรและพลังงาน มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนหลักของกิจกรรม ระดมทุนในภูมิภาคในปี 2567
กรุงเทพมหานครฯ, 19 พฤศจิกายน 2567— ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับสาธารณะชน (IPO) จำนวน 122 บริษัท โดยระดมทุนได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO จะยังคงมีปริมาณสูง แต่จำนวนเงินทุนที่ระดมทุนได้มีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 163 บริษัทในปี 2566
โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของกิจกรรม IPO ในภูมิภาค เกิดจากการขาดการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ โดยในปี 2567 มีเพียงการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทเดียวเท่านั้นที่สามารถระดมทุนได้เกินกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ปี 2566 ที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ถึง 4 บริษัท
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับตลาดทุนทั่วโลก มาเลเซียกลับโดดเด่นในการเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทั้งสามด้าน กล่าวคือ จำนวนการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่าการระดมทุน และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
หมวดอุตสาหกรรมหลักที่ครองตลาดในภูมิภาคนี้ ได้แก่หมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และทรัพยากรและพลังงาน โดยคิดเป็นร้อยละ 52 ของจำนวนบริษัทที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด และ ร้อยละ 64 ของมูลค่าการระดมทุน IPO ทั้งหมด ตามลำดับ
หมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค
หมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาดท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเติบโต GDP ในภูมิภาค ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีฐานะมั่งคั่งมากขึ้นและมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น เมื่อระดับรายได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเหล่านี้สามารถตัดสินใจเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น เลือกซื้อผลิตภัณฑ์พรีเมียม และแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ
หมวดอุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากร
หมวดอุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานหมุนเวียน ยังคงเป็นจุดสนใจหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากภูมิภาคกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ความเท่าเทียม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนมากขึ้น พร้อมกับการสร้างสมดุลระหว่างการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น
เท ฮวี ลิง ลีดเดอร์ ที่ปรึกษาด้านบัญชีและรายงานทางการเงิน ประจำ ดีลอยท์ เซาท์อีสท์ เอเชีย กล่าวว่า “ตลาด IPO ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เผชิญกับความท้าทายสำคัญในปี 2567 รวมถึงความผันผวนของค่าเงิน ความแตกต่างของกฎระเบียบในแต่ละประเทศในภูมิภาค และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่สูงในภูมิภาคอาเซียนยังจำกัดการกู้ยืมของบริษัท ทำให้การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสาธารณะครั้งแรกชะลอตัว เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เลือกที่จะเลื่อนการเสนอขายหุ้นออกไป นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดในประเทศคู่ค้าหลักยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่ข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศในภูมิภาคก็ทำให้เกิดความซับซ้อนสำหรับบริษัทที่ต้องการเสนอขายหุ้นข้ามประเทศ บริษัทที่ต้องการเสนอขายหุ้นข้ามประเทศต้องพิจารณาถึงตลาด IPO ที่เป็นตัวแทนของการเติบโตของธุรกิจตนเอง โดยตลาดนั้นจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าใจและประเมินรูปแบบธุรกิจได้ดี เนื่องจากตลาดนั้นมีบริษัทจดทะเบียนที่คล้ายคลึงอยู่ นอกจากนี้บริษัทควรพิจารณาตลาด IPO ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เฉพาะภาคธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนในภาคธุรกิจของตน”
ภาพรวมตลาดในมาเลเซีย
ปี 2567 เป็นปีที่โดดเด่นสำหรับตลาด IPO ของมาเลเซีย โดยมีการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด จำนวน 46 บริษัทในปี 2567 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2549 เพิ่มขึ้นจาก 32 บริษัท ในปี 2566 มูลค่าการระดมทุนรวมผ่านการเสนอขายหุ้น IPO อยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด อยู่ที่ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556
ตลาดหลักทรัพย์ ACE ของมาเลเซีย ยังคงครองส่วนแบ่งการเสนอขายหุ้น IPO ในปีนี้ โดยมีการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 34 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การเปิดตัวตลาด ACE ในปี 2552 โดยรวมแล้ว ทั้งสามตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซียมีผลงานดีกว่าปีก่อน
“ตลาด IPO ของมาเลเซียได้แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเชิงบวก ความมั่นคงทางการเมือง และการมีส่วนร่วมจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้เพิ่มความคึกคักให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศมาเลเซีย (Bursa Malaysia) โดยมีอัตราการจองซื้อเกินจำนวนกว่า 200 เท่า ในขณะที่มาเลเซียกำลังเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่มั่นคงมากขึ้นหลังจากผ่านช่วงเวลาที่ผันผวนหลายปี เศรษฐกิจคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากผลกระทบต่อเนื่องของโมเมนตัมที่แข็งแกร่งนี้ ด้วยความสนใจที่เพิ่มขึ้นในหุ้น IPO จากทั้งบริษัทและนักลงทุน รวมถึงมูลค่าหุ้นที่ได้รับ ทำให้ Bursa Malaysia มีศักยภาพสูงในการเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการจดทะเบียนบริษัทในภูมิภาค” หว่อง การ์ ชุน พาร์ทเนอร์ บริการสนับสนุนด้านบัญชีสำหรับรายการทางธุรกิจ ดีลอยท์ มาเลเซีย กล่าว
ภาพรวมตลาดในประเทศไทย
แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO ในประเทศไทยจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีเพียง 29 บริษัท ในปี 2567 จำนวนเงินที่ระดมทุนได้ทั้งหมดอยู่ที่ 756 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนเงินที่ระดมทุนในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยติดหนึ่งในสามของตลาด IPO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าความท้าทายจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงอยู่ แต่ตลาดทุนมีการเติบโตและฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการกำกับดูแลที่ดีและความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้ตลาดในประเทศไทยโดยมีจำนวน IPO ที่จะเกิดขึ้น ที่จะมาจากหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
“ในปี 2567 ภูมิทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย และการเสนอขายหุ้น IPO สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตในระดับปานกลาง ขณะที่บริษัทต่างๆ พยายามใช้ประโยชน์จากการเติบโตหลังการระบาดของโรคระบาด หลายบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินงานที่นำ GenAI และวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลยังได้เปิดตัวโครงการเพื่อเพิ่มความโปร่งใสของตลาดและสนับสนุนธุรกิจใหม่ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) เพื่อกระตุ้นกิจกรรมการระดมทุนเพิ่มเติม” วิลาสินี กฤษณามระ พาร์ทเนอร์ บริการสนับสนุนด้านบัญชีสำหรับรายการทางธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว
ภาพรวมตลาดในอินโดนีเซีย
ตลาด IPO ของอินโดนีเซียมีการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 39 บริษัท ระดมทุนได้ 368 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2567 เมื่อเทียบกับการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 79 ครั้ง ระดมทุนได้ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดทั้งปี 2566 บริษัทขนาดเล็กได้เปิดตัวการเสนอขายหุ้น IPO ด้วยเป้าหมายการระดมทุนที่เป็นไปอย่างรอบคอบเน้นความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากปี 2567 เป็นปีการเลือกตั้งในประเทศ บวกกับความไม่แน่นอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากปัจจัยลบของตลาดโลก
สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO 10 อันดับแรกที่ระดมทุนได้สูงสุด พบว่าหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และทรัพยากรและพลังงาน มีสัดส่วนถึง 9 ใน 10 ของการระดมทุนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่สามารถสร้างความมั่นคงได้ในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากฐานผู้บริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน หมวดอุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากร ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของตลาด IPO ในอินโดนีเซีย แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO โดยรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566
จัสมิน มารานาน ที่ปรึกษาด้านตลาดทุน ประจำ ดีลอยท์ อินโดนีเซีย ให้ความเห็นไว้ว่า “ในขณะที่ตลาดในประเทศรอความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการคลังและการเงินภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ แนวโน้มทางเศรษฐกิจและการเติบโตในประเทศยังคงเป็นไปในทางบวก โดยได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลเป็นผู้นำ และการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ แนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ที่ดี และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนยังได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและสภาพคล่องของตลาด เพื่อกระตุ้นการจดทะเบียนในปี 2568”
ภาพรวมตลาดในเวียดนาม
ในช่วง 10 เดือนครึ่งของปี 2567 เวียดนามมีการเสนอขายหุ้น IPO เพียงหนึ่งราย ซึ่งระดมทุนได้ประมาณ 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่น่าทึ่งคือ IPO รายนี้เป็นการระดมทุนครั้งแรกในหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงินของเวียดนาม และมีผลตอบแทนเหนือกว่าตลาดหุ้นเวียดนามตลอดทั้งปี 2566 และมากกว่ามูลค่าเฉลี่ยของ IPO ตั้งแต่ปี 2564-2566 ถึงประมาณ 5 เท่า
“ตลาดหุ้นเวียดนามกำลังแสดงสัญญาณฟื้นตัวในปี 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้ออำนวยและสภาพแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกกฎระเบียบใหม่เพื่อปรับปรุงการจัดอันดับของตลาดหุ้นเวียดนาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในปี 2568” วัน ทรินห์ บุย ลีดเดอร์ บริการสนับสนุนด้านบัญชีสำหรับรายการทางธุรกิจ ดีลอยท์ เวียดนาม กล่าว
ภาพรวมตลาดในสิงค์โปร์
ในช่วง 10 เดือนครึ่งของปีนี้ สิงค์โปร์มีการเสนอขายหุ้น IPO บนกระดาน Catalist จำนวน 4 บริษัท ซึ่งระดมทุนได้ประมาณ 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้ง 4 เป็นบริษัทที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีการจดทะเบียนหลักทรัพย์ในตลาดรอง 2 บริษัท จากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ได้แก่ Helens International Holdings ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งการลงทุนของจีนที่ดำเนินธุรกิจบาร์และแฟรนไชส์เป็นหลัก และ PC Partner Group Limited ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
แดเรน อึ้ง พาร์ทเนอร์ บริการสนับสนุนด้านบัญชีสำหรับรายการทางธุรกิจ ดีลอยท์ สิงค์โปร์ กล่าวว่า “ดูเหมือนว่าจะมีความสนใจใน REITs เพิ่มขึ้นในสิงค์โปร์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีเสถียรภาพ ความต้องการสินทรัพย์สร้างรายได้อย่าง REITs ของนักลงทุนคาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้น ด้วยกรอบแนวคิดของ REITs ในประเทศสิงค์โปร์ ทำให้สิงค์โปร์ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสำหรับ REITs ในเอเชีย ดึงดูดทั้งผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการเข้าถึงตลาดที่มีการกำกับดูแลที่ดีและมีสภาพคล่องสูง”
“หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสิงค์โปร์ ยังได้จัดตั้งคณะทำงานทบทวนเพื่อประเมินและยกระดับระบบนิเวศน์ IPO ของประเทศ โดยมุ่งเน้นการทำให้กระบวนการจดทะเบียนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับบริษัทต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะส่งเสริมการจดทะเบียนที่หลากหลายมากขึ้นและปรับปรุงประสิทธิภาพของตลาด เสริมสร้างสถานะของสิงค์โปร์ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำ ด้วยสภาวะที่เอื้ออำนวยและการสนับสนุนด้านกฎระเบียบเหล่านี้ ตลาด IPO ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน REITs มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2568” แดเรน กล่าวเสริม
ภาพรวมตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เมื่อมองไปยังอนาคตของตลาด IPO ในภูมิภาค, ฮวี ลิง กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลงควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง อาจสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสนอขายหุ้น IPO ในปีต่อๆ ไป ฐานผู้บริโภคที่แข็งแกร่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเพิ่มขึ้นของชั้นกลาง และความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในภาคสต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ และพลังงานหมุนเวียน ยังคงดึงดูดนักลงทุน ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้ ปี 2568 จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของกิจกรรม IPO ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
หมายเหตุ : ข้อมูลทั้งหมดในรายงานนี้ถูกต้อง ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 โดยยังไม่รวมถึงข้อมูลการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 รายงานฉบับสมบูรณ์ที่ครอบคลุมข้อมูล IPO ของปี 2567 จะพร้อมเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2568"