Article
ธุรกิจครอบครัว: การบริหารองค์กรท่ามกลางระบบนิเวศทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง
ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจกดดันให้ธุรกิจครอบครัวต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดที่ไม่หยุดนิ่งและเผชิญกับความไม่แน่นอนได้สำเร็จ
วันที่: มกราคม 2020
ผู้เขียน: พันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร และ สกลศรี สถิตยาธิวัฒน์
ธุรกิจครอบครัวเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านมาสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและรวดเร็ว โดยกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่ารวมประมาณ 28 ล้านล้านบาท หรือ 72% ของมูลค่าธุรกิจทั้งหมดในประเทศ มากกว่า 50% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริหารกิจการโดยสมาชิกครอบครัว จนบัดนี้ การสร้างความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับกลุ่มธุรกิจครอบครัวทั่วโลก ในการบริหารธุรกิจครอบครัว มิได้เป็นเพียงการตัดสินทางธุรกิจหรือการลงทุนเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าของธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัว จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจประเภทดังกล่าวส่วนมากจะดำรงอยู่ได้เพียงหนึ่งรุ่น อุปสรรคและปัญหาสำคัญที่ทำให้การสานต่อธุรกิจทำได้ยาก เป็นเพราะขาดการสื่อสารที่ดีและความโปร่งใส รวมทั้งอาจไม่มีการร่วมกำหนดเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่ง การยึดอำนาจการตัดสินไว้กับผู้บริหารรุ่นก่อน ความไม่เท่าเทียมกันของสมาชิกครอบครัว และขาดการเตรียมพร้อมของผู้รับช่วงต่อธุรกิจ เมื่อผู้บริหารรุ่นเดิมขาดความเชื่อมั่นในสมาชิกครอบครัวที่จะก้าวเข้ามาดำเนินธุรกิจ มรดกทางธุรกิจของครอบครัวจึงไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว
บทความนี้ได้รวบรวมคุณลักษณะเฉพาะของคนเจนเนอเรชั่นใหม่ที่สามารถนำมากำหนดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว ได้แก่
นวัตกรรม (Innovation) และเทคโนโลยี (Technology)
คนรุ่นก่อนจะให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงาน และการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและใกล้ชิดกับเครือข่ายธุรกิจ ในขณะที่นักบริหารธุรกิจรุ่นใหม่จะเปิดรับการใช้เทคโนโลยีและการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตอบสนองความต้องการของเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และสมาชิกครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ในระบบนิเวศทางธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีการสรรค์สร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันการ ซึ่งผู้บริหารรุ่นใหม่จะเป็นกลไกสำคัญขององค์กรในการปรับตัวเข้าสู่การบริหารในยุคปัจจุบัน
รูปแบบผู้นำ
ธุรกิจครอบครัวอาจประสบกับภาวะอ่อนแอในช่วงเปลี่ยนมือที่อาจมีสภาวะความขัดแย้งเกิดขึ้นจากความต้องการรักษาและให้เกียรติวัฒนธรรมในการทำงานแบบเดิม และแรงกดดันให้ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ถึงแม้ว่าธุรกิจครอบครัวส่วนมากจะมีมุมมองว่าระบบนิเวศทางธุรกิจแบบใหม่จะเปิดโอกาสในการเติบโตให้แก่ธุรกิจได้ แต่พฤติกรรมขององค์กรต่าง ๆ ยังสะท้อนว่าไม่ได้เปิดรับโอกาสดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยผู้บริหารรุ่นเดิมจะบริหารงานโดยมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนอาศัยการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์
สมาชิกครอบครัว หรือ คนภายนอก
การส่งต่อมรดกทางธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นมีความซับซ้อน เนื่องจากคนรุ่นก่อนจะเน้นการดำรงและรักษาทุกสิ่งไว้ภายในครอบครัว เมื่อเทียบกับนักธุรกิจรุ่นใหม่จะนิยมการสร้างความร่วมมือและให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของบุคคลภายนอก ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งต่อธุรกิจจากผู้ก่อตั้งไปยังทายาทที่อาจเป็นกลุ่มพี่น้อง หรือ เครือญาติ ทำให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ดังนั้น ความท้าทายสำคัญในการส่งต่อธุรกิจ จึงเป็นการรักษาค่านิยมของครอบครัว การวางแผนการส่งต่อกิจการครอบครัว และการเพิ่มความเป็นมืออาชีพในการบริหารธุรกิจครอบครัวมากยิ่งขึ้น
คุณลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างคนต่างเจเนอเรชั่นที่ได้กล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคและปัญหาของการทำงานร่วมกันในธุรกิจครอบครัว โดยปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้อย่างไร การบริหารจัดการที่เน้นความหลากหลายของเจเนอเรชั่น (Multigenerational Approach) อาจเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหานี้
การบริหารโดยเน้นความหลากหลายของเจเนอเรชั่น (Multigenerational Approach) เป็นแนวทางสำคัญที่จะสามารถส่งต่อความมั่งคั่งและมรดกไปยังรุ่นถัดไปภายใต้สภาพแวดล้อม่ใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แนวทางดังกล่าวอาศัยพื้นฐานของการสื่อสาร ความโปร่งใส การศึกษา และการวางแผน โดยการค้นหา ทำความเข้าใจ และจะใช้ประโยชน์ของคุณสมบัติที่โดดเด่นของสมาชิกครอบครัวในแต่ละยุค ขั้นตอนดังกล่าวเป็นหัวใจของการเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างวัย และการสร้างมรดกที่ไม่ใช่เพียงการส่งต่อความมั่งคั่งหรือการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมและค่านิยมของในการบริหารธุรกิจครอบครัวที่จะสร้างเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวและธุรกิจให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ผู้นำจะต้องมีความยืดหยุ่นและใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ ตลอดจนขับเคลื่อนผลลัพธ์โดยอาศัยภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ (Relationship Based Leadership)
ในธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ สมาชิกครอบครัวจะรู้จักเรียนรู้จากสมาชิกต่างช่วงวัยและนำแนวคิดที่ดีที่สุดของแต่กลุ่มมาปรับใช้ในการบริหารงาน ที่สำคัญธุรกิจครอบครัวต่าง ๆ จะต้องพิจารณาโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสมในระบบนิเวศทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยไม่ละทิ้งประวัติและค่านิยมของครอบครัว ดังนั้น การปรับตัวของธุรกิจครอบครัวต่าง ๆ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาดูในระยะต่อไป โดยธุรกิจครอบครัวที่สามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและกระบวนการทำงานเพื่อใช้ประโยชน์ของโอกาสใหม่ ๆ จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างสำเร็จ