Article
ภาวะผู้นำที่จำเป็นสำหรับซีอีโอเพื่อรับมือกับโลกยุค VUCA Plus
วันที่: เมษายน 2020
ผู้เขียน: สุภศักดิ์ กฤษณามระ และ สกลศรี สถิตยาธิวัฒน์
ในขณะที่แนวโน้มวิกฤตขยับเข้าใกล้มาเรื่อย ๆ องค์กรต่าง ๆ ต้องถามตัวเองว่ามีความพร้อมรับมือมากน้อยเพียงใดโดยเฉพาะภายใต้สภาวะความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น (Volatility, Uncertainty, Complexities, Ambiguity Plus: VUCA+) ทำให้บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทเหล่านี้ จึงควรต้องมีแนวทางในการรับมือกับปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงข้ามอุตสาหกรรม (Cross-Industry Disruption) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดขั้นจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี กฎระเบียบ และแรงกดดันจากการแข่งขัน ทำให้การดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เห็นได้จากกลางปี 2019 เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจำนวนสินค้าคงเหลือที่ลดลงในหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความคึกคักมากขึ้น และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่เริ่มคลี่คลาย แต่เพียงเมื่อต้นปี 2020 สถานการณ์กลับพลิกผัน โดยบริษัทต่าง ๆ ถูกตัดงบประมาณ และการระบาดของไวรัสโคโรน่าทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจโลกซบเซา
ประเทศไทยเอง ก็จำต้องเผชิญกับสภาวะ VUCA+ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุปัจจัยเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการระบาดของไวรัสโคโรน่าที่จะฉุดรายได้ภาคการท่องเที่ยว เสถียรภาพทางการเมืองที่ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณประเทศล่าช้า ตลอดจนภัยแล้งที่จะกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าความท้าทายมีรอบด้านและยังไม่ชัดเจนว่าปัญหาจะอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน และมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด การเปลี่ยนแปลง (Disruption) ในวันนี้จึงไม่เพียงส่งผลกระทบในระยะสั้นแต่เป็นสภาวะที่จะอยู่กับเราอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจึงต้องประเมินสถานการณ์จากมุมมองต่าง ๆ และตอบสนองอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยเวลาจนนานเกินไป ความเสียหายก็อาจเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
ช่วงเวลานี้ถือได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับซีอีโอ ซึ่งนอกจากปัญหาในการบริหารองค์กรแล้ว ยังมีปัจจัยท้า-ทายอื่น ๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิวัฒนาการทางเทคโนโลยี และการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานต่างเจน-เนอเรชั่น ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้ซีอีโอสามารถปรับตัวให้ทันกับสภาวะ VUCA+ เราจะต้องกำหนดแนวทางในการรับมือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของแนวทางดังกล่าวคือการมีภาวะผู้นำที่แข็งแกร่ง โดยวิจัยของดีลอยท์ได้แสดงให้เห็นว่าซีอีโอขององค์กรขนาดใหญ่จะสามารถสร้างความก้าวหน้าในสภาวะนี้ได้ หากมีทักษะในการปรับตัว (Un-disruptable) เป็นอาวุธ ซึ่งคุณสมบัติ 5 ด้านที่ผู้นำต่าง ๆ เห็นตรงกันว่าจำเป็นต่อซีอีโอในยุค VUCA+ มีดังต่อไปนี้
หาจุดสมดุลร่วมกันระหว่างสองขั้วตรงกันข้าม (Ambidexterity)
องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะ VUCA+ คือการการสร้างความสมดุลระหว่าง 2 เป้าหมายที่อาจดูสวนทางกัน นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Exploitation) ควบคู่กับการแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง (Exploration) การมุ่งเน้น 2 เป้าหมายดังกล่าวจะสนับสนุนให้องค์กรมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นผ่านการเสริมศักยภาพในการสร้างผลตอบแทน พร้อมกับเปิดโอกาสให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยการเปิดรับความเสี่ยงของการลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมขององค์กร และการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน อย่างไรก็ดี ซีอีโอจะต้องวิเคราะห์แนวทางในการสร้างสมดุลและการปลูกฝังแนวคิดทั้งสองในกระบวนการทำงาน โครงสร้างองค์กร และวัฒนธรรม ที่เหมาะสมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้สำเร็จ
ฝึกฝนความแข็งแกร่งทางอารมณ์ (Emotional Fortitude)
ความแข็งแกร่งทางอารมณ์หมายถึง ความสามารถในการแปลงความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างผลงาน นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจว่าความล้มเหลวในบางสถานการณ์อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น ซีอีโอจะต้องสื่อสารให้องค์กรเข้าใจและคุ้นชินกับการเผชิญกับความเสี่ยง โดยควรส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว
ไม่ยึดติด ไม่หยุดนิ่ง พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา (Beginner’s Mind-set)
ซีอีโอที่มี “Beginner’s Mind” จะถามคำถามจำนวนมาก ฟังอย่างตั้งใจ และตรึกตรองสิ่งที่ได้รับฟังโดยไม่มีอคติการมีความคิดในลักษณะดังกล่าวจึงอาจทำได้ยากและขัดแย้งกับธรรมชาติของซีอีโอ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ผู้นำมักจะมีพฤติกรรมที่สะท้อนแนวคิดว่า รู้ทุกอย่าง (Know it All) เพราะคนทั่วไปมักคาดหวังให้ซีอีโอรู้ทุกอย่าง นอกจากนี้ ซีอีโอยังมีความมั่นใจที่ได้มาจากการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี ในสภาวะ VUCA+ ผู้บริหารจะไม่สามารถใช้เทรนด์เดิมในการพยากรณ์ภาพในอนาคตได้อีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม ความสำเร็จอาจขึ้นอยู่กับการที่องค์กรสามารถรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การระบุได้ว่าองค์กรของเราขาดข้อมูลอะไรบ้าง ในสถานการณ์นี้ ซีอีโอที่มีความแข็งแกร่งทางอารมณ์จะตื่นตัวที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีความตระหนักว่าตนยังต้องค้นคว้าอย่างไม่มีสิ้นสุด
สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยจูจิทซู (Disruptive Jujitsu)
Disruptive Jujitsu คือ การเรียนรู้จากการแข่งขันเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงในโมเดลธุรกิจองค์กรที่จะทำให้องค์กรขึ้นนำหน้าคู่แข่งได้ การสร้างความเชี่ยวชาญใน Disruptive Jujitsu จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อซีอีโอในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยผู้บริหารจะต้องสามารถเล็งเห็นความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังคุกคาม จำแนกองค์ประกอบของความเสี่ยงดังกล่าว นำองค์ประกอบที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร แล้วจึงหาทางดึงองค์ประกอบดังกล่าวมาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ตอบสนองประสบการณ์ของผู้ใช้ได้อย่างครบถ้วน (End-user Ethnographer)
ในโลกของการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีได้สร้างพฤติกรรมการบริโภครูปแบบใหม่ โดยผู้บริโภคส่วนมากซื้อของออนไลน์ ผ่านสื่อโซเชียล เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา (Hyper-connected) และมีข้อมูลสินค้าอย่างท่วมท้น ดังนั้น ในช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงสำคัญที่ซีอีโอจะต้องเข้าถึงประสบการณ์ของผู้บริโภคและสร้างความไว้วางใจสูงสุด โดยการเข้าใจการใช้ชีวิตประจำวันผู้บริโภคแม้กระทั่งนิสัยเฉพาะ ความใฝ่ฝัน ตลอดจนความกังวลจิตใต้สำนึก เพื่อให้มีมุมมองที่ลึกซึ้งที่สุด อย่างไรก็ดี ถึงแม้เทคโนโลยีของการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการและตอบสนองต่อความต้องการเชิงลึกของฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ได้ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของการรับมือต่อความท้าทายของ VUCA+ เท่านั้น ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายทั้งหมดได้
คุณสมบัติทั้ง 5 ด้านดังกล่าวถือเป็นรากฐานสำคัญของโมเดลผู้นำรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในยุค VUCA+ ซีอีโอจะสร้างความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสามารถปลูกฝังและรู้จักใช้คุณสมบัติทั้ง 5 ดังกล่าวในการขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างผสมผสานกลมกลืน นอกจากนี้แล้ว องค์กรต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวไปพร้อมกันให้สอดรับกับแนวทางการบริหารงานรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและทำให้องค์กรมีความพร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกยุค VUCA+ ได้อย่างแท้จริง