Article
Fintech พันธมิตรหรือคู่แข่ง
วันที่: พฤศจิกายน 2019
ผู้เขียน:ปาริชาติ จิรวัชรา และ กานต์ชนก บุญสุภาพร
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีทีผ่านมานี้ Fintech หรือ ผู้ประกอบการที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมวงการการเงินอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถแบ่ง Fintech ออกเป็น 4 กลุ่มหลักตามลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการ ดังนี้ 1) กลุ่มผู้ให้บริการด้านตลาดทุนและธนาคาร เช่น การชำระเงิน หรือ Payment และ ด้านการให้กู้ยืม หรือ Lending เป็นต้น 2) กลุ่มผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการการลงทุน 3) กลุ่มผู้ให้บริการด้านประกัน เช่น P2P insurance และการประกันส่วนบุคคล และ 4) กลุ่มผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริการด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยสตาร์ทอัพแต่ละกลุ่มมีจำนวนแตกต่างกัน หากพิจารณาในระดับโลก สตาร์ทอัพจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการด้านตลาดทุนและธนาคารเป็นหลัก โดยเฉพาะบริการด้าน Payment ขณะที่ในไทยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มการให้บริการด้านการให้กู้ยืมเป็นหลัก นอกจากนี้ Fintech ยังประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น สะท้อนจากจำนวนสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่สูงถึงกว่า 40 ราย ซึ่งนับว่ามีปริมาณมากกว่าสตาร์ทอัพด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจท่องเที่ยว การศึกษา และค้าปลีก
อย่างไรก็ตามนอกจากสตาร์ทอัพจะเข้ามาในตลาด Fintech อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ หรือ Big tech เช่น Alibaba, Tencent และ Google ที่เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น โดย Big tech และเหล่าสตาร์ทอัพได้มุ่งพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยการนำ Emerging technology มาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็น Blockchain และ Artificial Intelligence หรือ AI โดยล่าสุด Ant Financial ในเครือ Alibaba ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันชำระเงิน ได้เริ่มผลักดันให้เกิดวิธีการจ่ายเงินด้วยรูปแบบใหม่ จากเดิมที่ผู้บริโภคจ่ายเงินผ่าน QR Code เปลี่ยนเป็นการยืนยันด้วยใบหน้าบุคคลแทน โดยมี AI เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้ง่ายมากขึ้นโดยเฉพาะสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากลูกค้าไม่จำเป็นต้องเปิดใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่อจ่ายเงินในละครั้ง นอกจากนี้เหล่า Big tech ยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าผู้ประกอบการดั้งเดิมในด้าน ecosystem เช่น การมีแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียและผู้ใช้งานจำนวนมาก ส่งผลให้มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค หรือเรียกได้ว่ารู้จักผู้บริโภคเป็นอย่างดี จึงช่วยสนับสนุนให้สามารถนำ Emerging technology มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าจนเหนือกว่าผู้ประกอบการดั้งเดิม
เรียกได้ว่าการเข้ามาของ Fintech ได้สร้างความท้าทายแก่ผู้ประกอบการด้านการเงินแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทประกัน ซึ่งมีแนวโน้มถูกแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด อีกทั้งยังส่งผลให้ธุรกิจด้านการเงินการธนาคารกลายเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดขึ้น เนื่องจากมีคู่แข่งเข้ามาแข่งขันจำนวนมากและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่ตรงใจผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้ประกอบการแบบดั้งเดิมยังได้รับผลกระทบเชิงลบทางอ้อม อย่างการสูญเสียโอกาสในการได้รับข้อมูลการบริโภคของผู้ใช้บริการแก่เหล่าสตาร์ทอัพและ Big tech เช่น การสูญเสียข้อมูล Transaction ของผู้บริโภค แก่ผู้ประกอบการที่ให้บริการ e-Wallet เป็นต้น
ดังนั้นท่ามกลางความท้าทายที่ถาโถมเข้ามานี้ ผู้ประกอบการควรเริ่มต้นจากการพิจารณาปัจจัยที่ทางบริษัทให้ความสำคัญก่อน เช่น หากต้องการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว ผู้ประกอบการควร Outsource กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปให้บริษัทอื่นที่มีความเชี่ยวชาญทำก่อนเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันและการมีอำนาจบริหารจัดการอย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าและบริการด้วยตนเอง โดยการตั้ง Fintech Unit ขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการตั้งบริษัทลูกแยกออกมากจากบริษัทแม่เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และร่วมมือกับสตาร์ทอัพ หรือ Big tech ในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เช่น China Everbright Bank ร่วมมือกับ Ant Financial โดยใช้เทคโนโลยีของ Ant Financial ไม่ว่าจะเป็น artificial intelligence-related applications และ biometric verification technology เพื่อช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการแก่ลูกค้าในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้ธนาคารไม่ต้องกังวลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้น
สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจที่กำลังศึกษาด้าน Fintechเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ Deloitte ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของงาน The Singapore FinTech Festival 2019 ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2019 ที่สิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย Singapore FinTech Festival (SFF) และ the Singapore Week of Innovation and TeCHnology (SWITCH) โดยภายในงานจะมีการรวบรวมนวัตกรรมทางด้าน Fintech และ Deep technology มาจัดแสดง ท่านสามารถเข้าสู่ Website https://deloittesea.az1.qualtrics.com/jfe/form/SV_41qozy6NL5WacYJ เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม และหากท่านสนใจเข้าร่วมงาน ท่านสามารถลงทะเบียนได้ผ่าน https://www.fintechfestival.sg/