Article
ธุรกิจประกันจะพลิกเกมธุรกิจ สร้าง New S-Curve ได้อย่างไร
วันที่: กุมภาพันธ์ 2020
ผู้เขียน:นันทวัฒน สำรวญหันต์ และ กานต์ชนก บุญสุภาพร
ธุรกิจประกันนับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โดยในระหว่างปี 2007-2018รายได้รวมของธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยขยายตัวเฉลี่ยถึง 10.9% และ 7.9% มาอยู่ที่ 6.27 แสนล้านบาท และ 2.33 แสนล้านบาทตามลำดับ อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะขยายตัวอีกมาก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของจำนวนประชากรชนชั้นกลาง และการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ตลาดยังมีความเป็นไปได้ที่จะขยายไปได้เพิ่มเติมอีก เนื่องจากปัจจุบันการทำประกันยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองและกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบน โดยกว่า 70% ของเบี้ยประกันรวมนั้นมาจากภาคกลาง
อย่างไรก็ตามในปี 2019 กลับเป็นปีแรกที่อัตราการขยายตัวชะลอลง อีกทั้งธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายในอย่างการพึ่งพาผลิตภัณฑ์บางกลุ่มมากเกินไป เช่น ประกันภัยรถยนต์มีสัดส่วนถึง 60% ของ Portfolio ผู้ประกอบการประกันภัย รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างการถูกเข้าซื้อกิจการ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลต่อผลตอบแทนด้านการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเป็นไปได้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ เช่น Grab ที่เริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจประกันภัย และเป็นผู้เล่นที่มีความได้เปรียบด้านข้อมูล ทำให้รู้จักและเข้าใจลูกค้าเป็นอย่างดี จึงนับเป็นคู่แข่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
แม้ว่าช่วงเวลาถัดจากนี้จะเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจประกัน แต่ผู้ประกอบการยังคงมีช่องทางสร้างการเติบโตได้ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เนื่องจากหากพิจารณาด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประกันในไทยนั้น พบว่าส่วนใหญ่แล้วล้วนกระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตสามัญและประกันภัยรถยนต์ ที่มีสัดส่วนราว 70% และ 60% ของ Portfolio ผู้ประกอบการประกันชีวิตและประกันภัยตามลำดับ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันรูปแบบใหม่ๆ กลับยังไม่แพร่หลายนักในไทย
ดังนั้นผู้ประกอบการควรหันมาดำเนินกลยุทธ์สร้างการเติบโตด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (Product Innovation) โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความแตกต่าง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนสามารถพัฒนา Solution เพื่อแก้ปัญหา Pain point ของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นระดับโลกได้ดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น AXA ที่ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ Fizzy ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยเที่ยวบินล่าช้าที่มีการนำ Blockchain มาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และลดระยะเวลาในการดำเนินงานลง ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยไม่ต้องดำเนินเรื่องเคลมประกัน เนื่องจากระบบจะจัดการให้เองอัตโนมัติเมื่อเที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง ขณะที่ ZhongAn ผู้เล่นจากจีน ซึ่งอยู่ภายใต้ PingAn ได้นำ Big data มาใช้ประโยชน์ ด้วยการนำข้อมูลจากหลากหลายแหล่งมาใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงใจผู้บริโภคและไม่เคยมีมาก่อนได้ถึงกว่า 200 รายการ เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันค่าขนส่งเมื่อต้องส่งสินค้าคืนแก่ร้านค้าออนไลน์ ผลิตภัณฑ์ประกันหน้าจอมือถือแตก เป็นต้น
เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จนั้น ผู้ประกอบการควรตั้งหน่วยงานสำหรับคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะผ่านการนำของผู้นำคนใหม่อย่าง Chief Innovation Officer ซึ่งหน่วยงานนี้จะมีโครงสร้างองค์กรและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างจากหน่วยงานแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบองค์กรให้มีลักษณะแบบ Organic organization ซึ่งสนับสนุนให้องค์กรสามารถสร้างความแตกต่างและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงออกแบบวิธีสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ผ่านการตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้และรางวัลจูงใจ ตลอดจนการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานกล้าลองผิดลองถูก สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นและเริ่มต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในด้านของทรัพยากรนั้น หน่วยงานนี้จะต้องได้รับการแบ่งสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมทั้งบุคลากรที่มีความสามารถตลอดจนเงินทุน สุดท้ายแล้วหน่วยงานนี้ควรสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่มีอยู่เดิม ควบคู่กับการลงทุนเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะสร้างการเติบโตระลอกใหม่ (New S-Curve) แก่องค์กรในอนาคต
ดังนั้นในยุค Digital disruption ที่หลายธุรกิจกำลังจะถูก disrupt ผู้ประกอบการควรเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ตั้งแต่วันนี้ เพื่อ disrupt ตนเองก่อนที่จะถูกผู้เล่นรายอื่นเข้ามา disrupt และแทนที่ในที่สุด