Article

ดิจิทัลแวนการ์ด – การโต้คลื่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สู่การสร้างโอกาสและการเติบโตทางธุรกิจ

วันที่: ธันวาคม 2019
ผู้เขียน: นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์

โลกธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบการสื่อสารกับลูกค้า ความคาดหวังด้านประสบการณ์ลูกค้า รวมถึงความต้องการของลูกค้าด้วย การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ (Digital Transformation) ที่เป็นที่รู้จักโดยแพร่หลายระหว่างธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นทางเลือกอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นกลยุทธ์ธุรกิจที่จำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

การโต้คลื่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำได้ยากกว่าที่คิด ธุรกิจดั้งเดิมหลายแห่งโดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบความสำเร็จและยุ่งอยู่กับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมมักจะไม่ยอมรับว่าโลกของธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นยังสังเกตได้ไม่ชัดเจน ทำให้การคาดการณ์อนาคตยิ่งทำได้ยาก

ดังนั้น องค์กรต่างๆ จะต้องสร้างความพร้อม โดยเลือกระหว่างการใช้กลยุทธ์เชิงรับโดยการตั้งรับมือเพื่อป้องกันธุรกิจ หรือการใช้กลยุทธ์เชิงรุกโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจ ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ (CIO) ทั่วโลกของดีลอยท์ พบว่า องค์กรชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะ       จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งจะเรียกกลุ่มองค์กรดังกล่าวว่า “ดิจิทัลแวนการ์ด”

ธุรกิจดิจิทัลแวนการ์ดดังกล่าวนี้จะสร้างจุดเด่นจากคู่แข่งอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผ่านคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่ ความสอดคล้องระหว่างกลยุทธ์ธุรกิจกับกลยุทธ์เทคโนโลยี (Business-IT alignment)  การบริหารคนเก่ง (Talent Management) และกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี (Technology strategy)

ลำดับแรก ความสอดคล้องระหว่างกลยุทธ์ธุรกิจกับกลยุทธ์เทคโนโลยี (Business-IT alignment) - โดยกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) จะขับเคลื่อนการลงทุนด้านนวัตกรรม

บริษัทที่เป็นดิจิทัลแวนการ์ดจะกำหนดนโยบายที่เน้นกลยุทธ์การเติบโตและคิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ ส่วนงานด้านธุรกิจและเทคโนโลยีจะต้องทำงานร่วมกันและมีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจให้ถึงจุดสูงสุดได้ ทั้งนี้ CIO จะพลิกบทบาทจากการเป็นส่วนงานสนับสนุน กลายเป็นผู้ร่วมกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ โดยทำงานใกล้ชิดร่วมกับผู้นำองค์กร รวมทั้งเป็นผู้กำหนดและขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลด้วยตนเองให้สอดคล้องกับภารกิจต่างๆ ของธุรกิจ ควบคู่กับการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดิจิทัลในภาพรวมขององค์กร

ลำดับที่สอง การบริหารจัดการคนเก่ง –วัฒนธรรมที่มีพลวัตจะดึงดูดคนเก่งระดับต้น ๆ ได้  

บริษัทดิจิทัลแวนการ์ดจะมีความมุ่นมั่นในการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนให้บริษัทสามารถจ้างงานและรักษาคนเก่งด้านเทคโนโลยีระดับต้น ๆ ไว้ได้ โดยบริษัทดิจิทัลแวนการ์ดจะดึงดูดและรักษาคนเก่งด้านเทคโนโลยีโดยอาศัยชื่อเสียงองค์กรในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม และการให้โอกาสที่จะทำงานกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจ องค์กรที่เป็นองค์กรดิจิทัลใหม่จะต้องให้ความสำคัญต่อการเข้าใจและตอบสนองความต้องการของพนักงานที่มีศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้คนเก่งขององค์กรเข้าใจบทบาทและคุณค่าของพนักงานที่สร้างให้แก่องค์กร ทั้งนี้ องค์กรควรส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วม ความเท่าเทียม และความหลากหลายของบุคลากร ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมการทดลองแบบวนซ้ำ (Iterative Experiment) และการล้มเหลวให้เร็ว (Fail Fast) อีกด้วย ทั้งนี้ ตลาดแรงงานในอนาคตจะมีความท้าทายเพิ่มยิ่งขึ้น โดยจะต้องคำนึงถึงวิธีการปรับปรุงรูปแบบของงานต่างๆ รวมทั้งการบริหารแรงงานสำรองไว้สามารถเรียกใช้เมื่อจำเป็น (Contingent Workforce) โดยองค์กรจะต้องมีผู้นำที่แข็งแรงที่สามารถขับเคลื่อนและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม (Innovative Culture) ในองค์กรได้ด้วย

ลำดับสุดท้าย กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี – สร้างสมดุลที่ดีของกลยุทธ์ขั้นพื้นฐานและกลยุทธ์ใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีและการลงทุน บริษัทดิจิทัลแวนการ์ดจะสามารถบริหารจัดการความต้องการของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสร้างความสมดุลระหว่างการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ นั่นหมายถึงบริษัทควรต้องมีการลงทุนเพื่อให้มั่นใจว่าสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นสามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจในปัจจุบันได้ดี ควบคู่กับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) และระบบที่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine Learning) รวมถึงการกำหนดแนวทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างครอบคลุม

การศึกษาและเข้าใจ 3 องค์ประกอบของดิจิทัลแวดการ์ด ได้แก่ ความสอดคล้องระหว่างกลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์เทคโนโลยี การบริหารจัดการคนเก่ง และกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี จะทำให้บริษัทต่างๆ สามารถพัฒนาและกำหนดกลยุทธ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขององค์กรได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการกำหนดกลยุทธ์ดังกล่าวจะต้องพิจารณาสภาพตลาดและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ โมเดลในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการพิจารณาความเหมาะสมของวัฒนธรรมองค์กร ความสามารถและทักษะบุคลากร ต่อการสนับสนุนทิศทางและกลยุทธ์องค์กรในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในส่วนของการบริหารบุคลากรองค์กรอาจต้องพิจารณาการยกระดับทักษะ (Upskill) บุคลากรที่มีศักยภาพผ่านการฝึกความรู้และทักษะใหม่ (Re-train) รวมทั้งการเข้าถึงกลุ่มคนเก่งที่แตกต่างจากลูกจ้างรูปแบบเดิมผ่านกระบวนการปัญญาจากฝูงชน (Crowdsourcing) อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจคือการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ มีความคล่องตัวและเข้าใจในระบบดิจิทัล ตลอดจนมีแนวคิดที่มองไปข้างหน้าและมองเชิงระบบนิเวศ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำรุ่นต่อไป (Next-gen Leader)

To read this article in English language

English version

ดิจิทัลแวนการ์ด

Did you find this useful?