Perspectives

4 อุตสาหกรรมที่น่าจับตามองเมื่อการพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 เริ่มต้นขึ้น

ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่โลกต้องเผชิญ ภาคการเงินในฐานะผู้จัดสรรเงินทุนให้แก่ระบบเศรษฐกิจจึงริเริ่มพัฒนานโยบายและเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันการณ์ หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญได้แก่ Taxonomy หรือ ระบบนิยามเพื่อจำแนกประเภทที่นำมาใช้ระบุกิจกรรม สินทรัพย์ และสัดส่วนรายได้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนที่สำคัญ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เพื่อให้แต่ละภาคส่วนมีนิยามของกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ตรงกัน ดังนั้น Taxonomy จึงไม่ใช่กฎระเบียบที่บอกว่ากิจกรรมใด “ดี” หรือ “ไม่ดี” แต่เป็นนิยามกลางที่ใช้เป็นจุดยึดโยงและเป็นแนวทางกำหนดนโยบาย วางกลยุทธ์ และประเมินความเสี่ยงเพื่อวางแผนปรับตัวของภาคธุรกิจในอนาคต

ประเทศไทยได้แบ่งการพัฒนา Thailand Taxonomy ออกเป็นระยะ โดย Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ในภาคพลังงานและขนส่ง ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยและมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยได้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 และกำหนดให้เอกสาร Thailand Taxonomy นั้นสามารถทบทวนเป็นระยะและสามารถใช้งานได้ตามความสมัครใจ

4 อุตสาหกรรมที่น่าจับตามองเมื่อการพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 เริ่มต้นขึ้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 คณะทำงาน Taxonomy ได้เริ่มจัดประชุมเพื่อเริ่มจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งจะขยายขอบเขตภาคธุรกิจเพิ่มเติมโดยให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคการจัดการของเสีย และภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยยังคงมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนในระยะที่ 1 คาดว่าขอบเขตของกิจกรรมในแต่ละภาคธุรกิจจะคำนึงถึงนโยบายและบริบทของประเทศเป็นสำคัญ
ตลอดจนยังคงคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานของต่างประเทศด้วย

ที่ผ่านมา การจัดทำ Taxonomy ในระยะที่ 1 ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจ โดยในระยะที่ 2 นี้คาดว่าขอบเขตและหลักเกณฑ์ใน Taxonomy จะยังคงสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านและปรับตัวของธุรกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักและขาดเงินทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีเพื่อปรับการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การจัดทำ Taxonomy อาจจำเป็นต้องพิจารณามิติอื่นนอกเหนือจากการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากภาคการเกษตรไทยที่มีความเปราะบางสูงมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงอาจจำเป็นต้องพิจารณามิติของการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมหรือการดำเนินงานที่ช่วยลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต สำหรับภาคการจัดการของเสียและภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สองภาคธุรกิจนี้อาจเผชิญความท้าทายเรื่องการกำหนดขอบเขตและการสร้างความสมดุลของเงื่อนไขและตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ในระยะถัดไป คณะทำงานฯ มีกำหนดเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างเอกสารมาตรฐาน Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จากสาธารณชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 และคาดว่าจะเผยแพร่ภายในปีถัดไป

ระหว่างนี้ ธุรกิจใน 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการจัดการของเสีย และภาคการก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำ Taxonomy ควรติดตามการพัฒนาขอบเขตและหลักเกณฑ์ผ่านสมาคมหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้ง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 และนโยบายหรือกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... ที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิต เก็บข้อมูลเพื่อรับสิทธิประโยชน์ หรือจัดทำรายงานที่อาจเกิดขึ้นเป็นภาคบังคับในอนาคต
 

Did you find this useful?